วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

แนวทางในการป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน


การดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน   


       เบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บป่วย ไม่มีความไม่สบายกายแต่อย่างใดเป็นระยะเวลานาน จึงมักจะไม่อยากมาพบแพทย์ตามนัด หรือมาตรวจพบว่าเป็นเบาหวานได้รับยาไปครั้งหนึ่ง ครั้งต่อๆ ไปมักจะซื้อยากินเอง จึงมักพบว่าส่วนหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานและไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติอย่างสม่ำเสมอจะเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อมีความรุนแรงมากขึ้นจะเกิดความเจ็บป่วยทรมานอย่างถาวร

  การดูแลสุขภาพทั่วไปในชีวิตประจำวัน  


1. ควบคุมเบาหวาน ให้ระดับน้ำตาลใกล้เคียงคนปกติ 
2. รับประทานยาสม่ำเสมอ 
3. อาจจะมีการติดตามตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง 
4. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง โดยเลือกรับประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายตนเอง 
5. พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การรับประทานอาหารให้เหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี อย่าปล่อยให้น้ำหนักขึ้นหรืออ้วน เพราะจะทำให้การคุมเบาหวานยากขึ้น 
6. แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ หลังอาหารทุกมื้อควรบ้วนปากทุกครั้ง เพื่อเอาเศษอาหารที่ติดค้างออกจนหมด ใช้แปรงสีฟันที่ขนไม่แข็งจนเกินไป7. อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน รักษาความสะอาดบริเวณซอกอับ เช่น ขาหนีบ ใต้ราวนม อวัยวะขับถ่าย เป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงการอับชื้น
8. ล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดาและสบู่อ่อนๆ ทุกวัน ซับเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
9. สวมเสื้อผ้าแห้ง สะอาด ระบายอากาศได้ดี และควรเปลี่ยนทุกวัน
10. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
11. หลีกเลี่ยงความเครียดทางอารมณ์ ในภาวะเครียดร่างกายและฮอร์โมนต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
12. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว
13. ควรพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด แม้จะรู้สึกสบายดี เพื่อรับการตรวจสุขภาพและคำแนะนำที่ถูกต้อง พร้อมปรับแผนการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดในโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวหรือมีอาการ

  สุขภาพตา 
  
      ผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับน้ำตาลในเลือดคุมได้ไม่ดี มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนทางตาได้ง่าย เช่น ต้อกระจก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเร็วก่อนวัย การเสื่อมของจอรับสายตา จึงควรที่จะ
                                                                                    







1. พบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพตา จะตรวจโดยการขยายม่านตา แม้ว่าสายตายังมองเห็นชัดดี ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (มักพบในเด็ก หรือคนอายุน้อย) ควรเริ่มได้รับการตรวจตาเมื่อเป็นเบาหวานมาแล้ว 5 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (ส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า 40 ปีและมักจะอ้วน ร่วมกับมีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว) ควรได้รับการตรวจตาตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน
2. การตรวจโดยการขยายม่านตา จะทำให้ผู้ได้รับการตรวจมีอาการตามัว 3-4 ชั่วโมงหลังการตรวจ จึงไม่ควรขับรถมาเองในวันที่ตรวจตา หรืออาจจะมีญาติมาด้วย เพื่อที่จะพากลับบ้านได้สะดวก3. ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน ควรได้รับการตรวจตาทุก 3 เดือน
       การจะวัดสายตาประกอบแว่น ทั้งสายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ ควรจะทำเมื่อควบคุมเบาหวานได้ดีแล้ว ถ้ามีอาการผิดปกติทางตา เช่น ตามัวทันที มีอาการปวดตามาก เห็นภาพ หรือเส้นลอยในตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์

สุขภาพช่องปากและฟัน   
 
      ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดเหงือกและฟันอักเสบมากกว่า และรุนแรงกว่าคนปกติ ขณะเดียวกันในผู้ป่วยที่มีโรคเหงือกและฟันอักเสบก็จะทำให้การควบคุมเบาหวานทำได้ยาก
1. ควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก ฟันและ จาก   ทันตแพทย์ทุก 6 เดือน                
 2. หมั่นรักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง               
 3. เมื่อมีเลือดออกบริเวณเหงือกหลังจากรับประทานอาหารหรือแปรงฟัน อาจจะแสดงถึงเมื่อมีการอักเสบของเหงือก หรือเมื่อมีฝ้าขาวของเชื้อราในช่องปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์

สุขภาพเท้า  
      สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่เท้า คนไข้เบาหวานมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้าได้มากกว่าคนปกติจาก
1. การที่เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม จากน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นานๆ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหยียบของมีคม หรือถูกกดรัดนานๆ หรือโดนความร้อน จึงทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว    
2. เส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อม ผิวหนังแห้ง ไม่มีเหงื่อ เกิดการคันง่าย เมื่อเกาเกิดเป็นแผลแตกติดเชื้อ                
3. หลอดเลือดส่วนปลายที่ไปเลี้ยงเท้าตีบตัน เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของเท้า เกิดเนื้อตายง่าย หรือเมื่อเกิดเป็นแผลหายยาก                
4. ติดเชื้อง่าย น้ำตาลในเลือดที่สูงๆ ทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อลดลง เมื่อติดเชื้อโรคจะลุกลามเร็ว


วิธีดูแลเท้า

1. ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำธรรมดาและสบู่อ่อนๆ ไม่ใช้แปรงหรือ ขนแข็งๆ ขัดเท้า ไม่ควรแช่เท้าด้วยน้ำร้อน ถ้าจะทำก็อาจใช้น้ำอุ่นน้อยๆ และไม่แช่นานเกิน 5 นาทีไม่ใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางบนขา หรือ เท้า   
  
2. ถ้าผิวแห้งคัน ทาครีมบางๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้าและรอบเล็บ ถ้าผิวหนังชื้นให้โรยด้วยแป้งฝุ่น

3. สำรวจเท้าตนเองทุกวัน ว่ามีรอยแผล เม็ดพอง ผิวหนังสีคล้ำ โดยตรวจทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า ซอกนิ้ว รอบเล็บ บริเวณที่ยากต่อการดู เช่น ส้นเท้า ฝ่าเท้าอาจใช้กระจกช่วย ถ้าไม่สามารถตรวจได้ด้วยตนเอง ควรให้ญาติช่วยดูให้ ถ้าพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

4. ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ควรสวมรองเท้าตลอดเวลา

5. ควรสวมถุงเท้าทุกครั้งที่สวมรองเท้า ใช้ถุงเท้าฝ้ายเนื้อนุ่มไร้ตะเข็บ เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีและไม่เกิดการเสียดสี ถุงเท้าไม่รัดแน่นจนเกินไป

6. ห้ามตัดตาปลา หนังหนาๆ หรือใช้น้ำยาแรงๆ จี้หูดด้วยตนเอง

7. การตัดเล็บเท้า ให้ตัดเล็บตรงๆ เสมอปลายเท้า  อย่าตัดเล็บโค้งเข้าจมูกเล็บ หรือตัดลึกมาก เพราะจะเกิดแผลได้ง่าย

8. ควรตัดเล็บหลังล้างเท้า หรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บอ่อนตัดง่าย ถ้าตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้

9. ไม่ใช้วัตถุแข็งๆ แคะซอกเล็บ เพราะอาจจะเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย

10. ถ้ามีเล็บขบ หรือมีบาดแผล ควรปรึกษาแพทย์

11. บริหารเท้าเป็นประจำทุกวัน จะช่วยการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเท้าได้ดีขึ้น

12. ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเส้นเลือดตีบตันทำให้การไหลเวียนเลือดลดลง

การเลือกและการใช้รองเท้า

1. เลือกรองเท้าที่ขนาดพอเหมาะ ไม่คับหรือหลวมเกินไป ขนาดรองเท้ายาวกว่านิ้วเท้า ที่ยามที่สุดประมาณครึ่งนิ้ว ส้นไม่สูง รองเท้าที่มีแผ่นรองรับแรงกระแทกภายใน จะช่วยลดแรงกดในฝ่าเท้าได้ดี เช่น รองเท้ากีฬา

2. การซื้อรองเท้า  ควรเลือกซื้อช่วงบ่ายหรือเย็นเนื่องจากเท้าจะขยายตัวเต็มที่


3. ควรเลือกรองเท้าหนัง หรือรองเท้ากีฬา เพราะจะระบายอากาศได้ดีกว่ารองเท้าพลาสติก

4. เลือกรองเท้าที่มีเชือกผูก หรือสายรัด เพื่อลดการเสียดสีของเท้ากับรองเท้าขณะสวม

5. ก่อนใส่รองเท้า ให้ตรวจในรองเท้าว่ามีสิ่งแปลกปลอม เช่น กรวด ทราย ดิน ตะปู แมลง อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกกันการเกิดแผล

6. เมื่อใช้รองเท้าคู่ใหม่ ควรเริ่มสวมครั้งละประมาณ 20-30 นาที แล้วเปลี่ยนเป็นคู่เก่า และค่อยๆปรับเพิ่มเวลา ตามความเหมาะสม

7. คอยสังเกตุตุ่มพอง รอยแตกทุกครั้งหลังใส่รองเท้าใหม่

8. ควรมีรองเท้าใส่สลับกันหลายคู่

แนวทางการบริโภคอาหารที่ดีในผู้ป่วยเบาหวาน 



       เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  เบาหวานเกิดจากความไม่สมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดกับจำนวนอินซูลินที่หลั่งออกมาจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนเมื่อร่างกายมีระดับอินซูลินที่ไม่เหมาะสมกับระดับน้ำตาลในเลือด  มีน้อยไปหรือออกฤทธิ์ไม่ดีเท่าที่ควรจึงเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั่วร่างกาย  เช่น  เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต หลอดเลือดแดงตีบและตัน ซึ่งทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคสมองขาดเลือด โรคปลายประสาทเสื่อม เป็นต้น  
        การเลือกกินอาหารที่ถูกต้อง จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี ป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนลงได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานควรที่จะศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือ ปรึกษาแพทย์ นักโภชนาการ เกี่ยวกับวิธีการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมของแต่ละบุคคล โรคปลายประสาทเสื่อม เป็นต้น

        ข้อสำคัญพึงตระหนักว่า  การคุมอาหารมิใช่การอดอาหาร แต่เป็นการปรับปริมาณและชนิดให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล ทั้งนี้จะต้องเปลี่ยนอุปนิสัยการบริโภคซึ่งควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิให้เกิดความเครียด พึงคิดเสมอว่าอาหารที่เหมาะสมสำหรับคนเป็นเบาหวาน ก็มิได้แตกต่างจากอาหารที่คนทั่วๆ ไปควรจะรับประทานแต่คนเรามักจะตามใจปาก มิได้คำนึงถึงคุณภาพของอาหารที่รับประทานเข้าไปว่าจะเป็นประโยชน์หรือให้โทษแก่ร่างกาย คิดถึงแต่ความอร่อย ฉะนั้นการปรับอุปนิสัยในการบริโภคเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้คนที่เป็นเบาหวานควบคุมโรคได้ดีขึ้นเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ คนไข้เบาหวาน ควรจะเรียนรู้อาหารคาร์โบไฮเดรต 3 ประเภท 

icecream.jpg         1) ประเภทต้องห้าม  ได้แก่
 - อาหารน้ำตาลและเบาหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สัขยา
 - ผลไม้กวนต่างๆ เช่น ทุเรียนกวน น้ำหวานต่างๆ น้ำอัดลม น้ำผลไม้
 - นมข้นหวาน
 - ผลไม้เชื่อม ผลไม้กระป๋อง

         2) ประเภทรับประทานได้ในปริมาณพอเหมาะ
- อาหารพวกแป้ง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน
- ผักประเภทหัว ที่มีส่วนประกอบของแป้งหรือน้ำตาลมาก เช่น เผือก มัน มันฝรั่ง ฟักทอง แครอท
- ผลไม้ต่างๆ


fruit_01.jpgการเลือกรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตให้ได้คุณภาพ ควรคำนึงถึงปัจจัย 2 อย่าง คือ
        1. ปริมาณใยอาหารที่มีอยู่ในอาหารนั้น
        2. ไกลซีมิค อินเดกซ์ (Glycemic Index)
 



ใยอาหาร  จะทำให้การดูดซึมอาหารช้าลง จึงควรจะได้รับใยอาหารวันละประมาณ   40 กรัม
ไกลซีมิคอินเดกซ์  เป็นการวัดการดูดซึมของอาหารเปรียบเทียบกับอาหารมาตรฐานถ้า

ไกลซีมิค อินเดกซ์ มีค่าเท่ากับ 100 แสดงว่า   ดูดซึมได้เร็วเท่าอาหารมาตรฐาน
                             ถ้าค่าต่ำกว่า 100  แสดงว่า  อาหารนั้นดูดซึมช้า
                               ถ้ามากกว่า 100  แสดงว่า  ดูดซึมมากกว่าอาหารมาตรฐาน


อาหารที่ควรรับประทานในคนเบาหวาน คือ อาหารที่มีไกลซีมิคอินเดกซ์ต่ำ



* ข้อมูลจากหนังสือ การดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน พิมพ์คัร้งที่ 3 โครงการตำราอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยา ศรีดามา บรรณาธิการ *
 

         3) ประเภทรับประทานได้ไม่จำกัดจำนวน 
        ได้แก่  ผักใบเขียวทุกชนิด ผักกาด ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ต้นหอม บวบ ใบโหระพา ใบสะระแหน่ แตงกวา แตงล้าน สายบัว พริกหนุ่ม เป็นต้น

        ปริมาณพลังงาน และอาหารที่ควรได้รับในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
        เนื่องจากเกือบครึ่งของคนไข้ประเภทนี้ มักจะมีภาวะโภชนาการเกิน และกินอาหารโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ดี ทำให้มีปัญหาในการรักษาน้ำหนักตัวระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด การลดพลังงานอาหารลงไปบ้าง โดยกำหนดให้ประมาณวันละ 20-25 แคลอรี่ ต่อ กิโลกรัมน้ำหนักตัวมาตรฐาน จะช่วยลดน้ำหนัก จะช่วยลดน้ำหนักตัวอย่างช้าๆ และคุมเบาหวานได้ดีขึ้น
        ในคนมีน้ำหนักตัวปกติ ควรจะได้พลังงาน 25-30 แคลอรี่ / กิโลกรัม-น้ำหนักตัวมาตรฐาน


       สัดส่วนของพลังงานอาหารที่เหมาะสม  คือ


       * อาหารโปรตีน  ที่ควรจะได้รับควรเป็น  โปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีไขมันต่ำ ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือหนัง ปลา เต้าหู้ ประมาณ 10-14 ช้นโต๊ะ/วัน
       * อาหารไขมัน  ควรจะเป็นไขมันอิ่มตัวที่ได้จากสัตว์น้อยที่สุด เพราะไขมันจากสัตว์จะเป็นตัวส่งเสริมให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
        ลดการใช้น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ใช้น้ำมันรำข้าว ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก ในการปรุงอาหาร ควรประกอบอาหารด้วยวิธีต้ม ย่าง นึ่ง หลีกเลี่ยงของทอด ถ้าจะผัดควรใช้น้ำมันจำนวนน้อย

ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับการกินอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย (โภชบัญญัติ 9 ประการ)
จะช่วยเป็นแนวทางให้ผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยมีหลักปฏิบัติ ต่อไปนี้  

1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินให้พอกับความต้องการของร่างกายและกินดี  คือ แต่ละหมู่ให้หลากหลายไม่ซ้ำซากและจำเจ
2. กินข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้าเป็นข้าวที่มีใยอาหารด้วยจะดี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ อาหารข้าวอาจจะสลับกับอาหารแป้งเป็นบางมื้อได้ เช่น เป็นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ขนมจีน
3. กินพืชผักให้มาก กินผลไม้ประจำและพอเหมาะ
4. กินปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นประจำและพอเหมาะ
5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
7. หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด และเค็มจัด
8. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน
9. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
   


อ้างอิง  
http://www.hangdong.com/webdmclinic.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น